ในตอนที่แล้ว เราได้รู้จักกับ HFT กันไปแล้วว่ามันคืออะไร ในตอนที่ 2 นี้ มาดูกันดีกว่าครับ ว่า HFT มีจุดกำเนิด และวิวัฒนาการอย่างไร? และเราจะเห็นว่า มันไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด!
เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ กับการซื้อขายหลักทรัพย์
คุณรู้มั้ยครับ ว่าเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เข้ามามีบทบาทกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ตั้งแต่เมื่อไหร่ ?
หลายท่านอาจจะเข้าใจว่า เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เพิ่งเข้ามามีบทบาทในการซื้อขายหลักทรัพย์ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่จริง ๆ แล้ว เทคโนโลยีเหล่านี้ อยู่กับตลาดหลักทรัพย์ มายาวนานกว่านั้นครับ โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการนำเอาเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 หรือกว่า 45 ปีมาแล้ว
โดยตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิสก์แห่งแรกของโลกเปิดทำการในปี ค.ศ. 1971 โดยในช่วงเริ่มต้นเทคโนโลยีถูกนำไปใช้ในเรื่องของการแลกเปลี่ยนและแสดงข้อมูลราคาหลักทรัพย์เท่านั้น (โดยการส่งคำสั่งซื้อขายยังทำผ่านทางโทรศัพท์) ต่อมา ในปี ค.ศ. 1976 ตลาดหลักทรัพย์ NYSE ได้เริ่มเปิดให้นักลงทุนรายใหญ่สามารถส่งคำสั่งซื้อขายในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ผ่านระบบ DOT (Designated Order Turnaround) ซึ่งถูกพัฒนาต่อเนื่องจนเป็นระบบ SuperDOT ในปี ค.ศ. 1984
หลังจากนั้นไม่นาน การเขียนโปรแกรมเพื่อซื้อขายอัตโนมัติ (Program Trading) ก็เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่กองทุนต่าง ๆ โดยกลยุทธ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคนั้นคือ “Portfolio Insurance” ที่ต้องการลดสัดส่วนการครอบครองหุ้นโดยการขายหุ้นหรือชอร์ตฟิวเจอร์ เมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลดลง เพื่อป้องกันไม่ให้มูลค่าการลงทุนในหุ้นปรับตัวลดลงตาม ซึ่งกลยุทธ์นี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิด Snowball Effect และส่งผลให้ตลาดหุ้นอเมริกาปรับตัวลดลง -22.6% ในวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม ค.ศ 1987 จนได้รับฉายาว่า Black Monday[1] (ผู้อ่านท่านใดต้องการทราบว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในวันนั้น ส่งข้อความมากันเยอะๆ นะครับ ถ้ามีคนต้องการมากพอ ผมจะเขียนเล่าลำดับเหตุการณ์ของ Black Monday ให้ทุกท่านได้อ่านกัน)
ผลพวงจาก “Black Monday”
เหตุการณ์ Black Monday ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎระเบียบ และการใช้เทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากการที่ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ไม่สามารถรับมือกับจำนวนคำสั่งซื้อขายจำนวนมาก ที่โถมเข้ามาในวันที่ตลาดตื่นตระหนก จนผู้ดูแลสภาพคล่องหลายราย ไม่ยอมรับโทรศัพท์เพื่อรับคำสั่งซื้อขายจากลูกค้า เหมือนในวันนั้นได้
หลังจากนั้น ตลาดหลักทรัพย์ต่าง ๆ เริ่มมีการซื้อขายอัตโนมัติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยในปีเดียวกันนั้นเอง ตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ได้เปิดให้บริการระบบ SOES (Small Order Execution System) ที่เปิดให้นักลงทุนรายย่อยสามารถส่งคำสั่งซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นเดียวกับผู้เล่นรายใหญ่ ซึ่งนี่ถือเป็นจุดกำเนิดของ Electronic Day Trader ที่ทำให้นักลงทุนทั่วไป สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ในความเร็วสูงได้เป็นครั้งแรก
ต่อมาได้เกิดตลาดหลักทรัพย์ทางเลือก (ATS – Alternative Trading System) ที่ให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นอีกหลายราย (เช่น INCA, Island และ Bloomberg Trade Book) ส่งผลให้นักลงทุนสามารถซื้อขายหลักทรัพย์ได้สะดวกขึ้น มีการเปิดบริษัทเพื่อหากำไรจากส่วนต่างราคาระหว่างวันเพิ่มมากขึ้น (ซึ่งผู้เล่นเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกของยุค HFT) จนส่งผลให้มีปริมาณการซื้อขายผ่านระบบดังกล่าวมากขึ้น มีการแข่งขันเพื่อตัดราคาในการซื้อขายมากขึ้น ส่วนต่างระหว่างราคาซื้อและราคาขาย (Bid-Ask Spread) ลดลง ตลาดมีสภาพคล่อง (Liquidity) มากขึ้น
ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้ต้นทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ (Transactional Cost) ของนักลงทุนทั่วไปลดลง จนในปี ค.ศ. 1998 กลต. ของประเทศสหรัฐฯ ได้ออกกฎระเบียบที่มีชื่อว่า Regulation ATS เพื่อควบคุม ดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ในระบบดังกล่าวให้มีความยุติธรรม และโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ต่อมาในปี ค.ศ. 2004 กลต. ของประเทศสหรัฐฯ ได้ออกกฎระเบียบ Regulation NMS ที่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีในตลาดทุน โดยกฎระเบียบนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ HFT แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการกฎดังกล่าวเอื้อให้ HFT สามารถทำกำไรจากความแตกต่างของระบบการซื้อขายต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ ทั้งจากความเร็ว กฎเกณฑ์การซื้อขายและค่าธรรมเนียมในการทำรายการที่แตกต่างกัน
การซื้อขายผ่านระบบดังกล่าวดำเนินไปได้ด้วยดีกว่าสิบปี และรู้กันเฉพาะในวงแคบ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ Flash Clash[2] ที่ทำให้ดัชนีหลักทรัพย์ในประเทศอเมริกาปรับตัวลดลงกว่า 10% ภายในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงในวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 2010 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาที่อาจเกิดจากการใช้โปรแกรมอัตโนมัติในการซื้อขายหลักทรัพย์อีกครั้ง และ HFT ก็เป็นหนึ่งในผู้ร้าย ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ เช่นเดียวกันกับที่ Program Trading เคยตกเป็นผู้ต้องสงสัยในกรณีของ Black Monday
ต่อมาในวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 2012 ก็เป็นอีกครั้งที่ HFT ทำให้เกิดความผันผวนขึ้นในตลาดเมื่อระบบซื้อขายหลักทรัพย์ของ Knight Capital ซึ่งเป็นผู้เล่น HFT รายใหญ่รายหนึ่ง เกิดข้อผิดพลาดจนทำให้ราคาของหุ้นที่ Knight Capital เป็นผู้ดูแลสภาพคล่องหลายตัวเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติในช่วงเปิดตลาด และส่งผลให้บริษัทขาดทุนเป็นจำนวนสูงถึง $440 ล้านเหรียญ ในเวลาเพียง 30 นาที[3]
บทสรุปจุดกำเนิด HFT
HFT นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่อยู่คู่กับการซื้อขายหลักทรัพย์มาตั้งแต่สมัยที่มนุษย์เริ่มนำเอาระบบอิเล็กทรอนิสก์มาใช้ในการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม HFT เพิ่งได้รับความสนใจจากสาธารณชนเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่ HFT ตกเป็นผู้ต้องหาที่ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดขึ้นหลายครั้ง ตั้งแต่กรณีของ Flash Cash ในปี 2010 และกรณีของ Knight Capital ในปี 2012 รวมไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่าปริมาณการซื้อขายของ HFT ในตลาดต่าง ๆ มีสัดส่วนที่สูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้สิ่งที่เราเคยเข้าใจเกี่ยวกับตลาดเปลี่ยนแปลงไป
ในตอนต่อไปผมจะพาทุกท่านไปรู้จักกับกลยุทธ์ที่ HFT ใช้ ว่ามีรูปแบบใดบ้าง และแต่ละกลยุทธ์นั้น มีผลกระทบกับตลาดอย่างไร แล้วพบกันใหม่ในตอนหน้าครับ!
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่ง ที่สนใจเรื่องราวเหล่านี้ อย่าลืมกดไลค์และติดตามบทความดี ๆ ของ Think Algo ได้ที่ www.facebook.com/think-algo แล้วเราจะเดินเข้าสู่การลงทุนยุคใหม่ด้วยหุ่นยนต์ไปด้วยกันครับ!
บทความโดย ดร. โน๊ต Think Algo
Chaiyakorn Yingsaeree, PhD
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
[1] ‘Black Monday: The Stock Market Crash of 1987’, Federal Reserve Bank of Chicago, available at http://www.federalreservehistory.org/Events/DetailView/48
[2] ‘Flash Crash’ a Perfect Storm for Markets’, Wall Street Journal, available at http://graphics.wsj.com/flash-crash-timeline/
[3] ‘Knight Shows How to Lose $440 Million in 30 Minutes’, Bloomberg, available at http://www.bloomberg.com/news/articles/2012-08-02/knight-shows-how-to-lose-440-million-in-30-minutes